โรคหัวใจแน่หรือ
โรคหัวใจเป็นโรคหนึ่งที่คนส่วนมากกลัว เมื่อไปหาแพทย์ให้ตรวจอาการมักจะต้องถามเสมอว่าหัวใจตนดีหรือไม่ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะคนทั่วไปรู้กันดีว่า หัวใจเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญต่อชีวิตมาก ถ้าหากมีการผิดปกติแต่อย่างไร ชีวิตก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้อย่างปกติสุข และถ้าหากหัวใจหยุดทำงานเมื่อใด เมื่อนั้นก็ย่อมหมายถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
น่าแปลกใจอยู่ตรงที่ว่า คนที่เป็นโรคหัวใจนั้นมีน้อยคนเหลือเกิน ที่คิดว่าตนเป็นโรคหัวใจ ยิ่งในระยะแรก ๆ นั้น อาการผิดปกติแทบจะไม่มีให้สังเกตได้ หลายคนที่ทราบว่าเป็นโรคหัวใจก็เพราะบังเอิญแพทย์ตรวจพบเข้าด้วยอาการของโรคอื่น หรือเมื่อตรวจสุขภาพประจำปีหรือจะไปต่างประเทศ ตรงกันข้ามคนที่คิดว่าตนหัวใจไม่ดีนั้น กลับพบว่าส่วนมากแล้วไม่มีความผิดปกติของหัวใจแต่อย่างใดเลย
การเป็นเช่นนี้เพราะเราใช้คำว่า "หัวใจ" และ "จิตใจ" สับสนกันมานานแล้ว หัวใจอยู่ในทรวงอกทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตเท่านั้น จิตใจและอารมณ์นั้นมีที่ตั้งอยู่ในสมอง ผู้ที่มีอารมณ์หวาดระแวง อาจมีอาการอ่อนเพลียเหนื่อยง่าย หมดเรี่ยวแรงและเป็นลมบ่อย ๆ ได้ อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นกับโรคใด ๆ ก็ได้ ไม่ใช่เป็นอาการเฉพาะแต่โรคหัวใจเท่านั้น
นอกจากนี้อารมณ์และจิตใจมีอิทธิพลต่อการเต้นของหัวใจได้เหมือนกัน เมื่อมีอารมณ์อย่างใดขึ้นดดยไม่ต้องออกแรงก็อาจทำให้หัวใจเต้นเร็วและแรงได้ บางทีก็เต้นไม่เป็นจังหวะอีกด้วย ก่อให้เกิดความหวาดกลัวว่าตนจะเป็นโรคหัวใจได้มากยิ่งขึ้น
วิธีที่ดีที่สุดเมื่อสงสัยว่าตนเองเป็นโรคหัวใจควรไปหาแพทย์ และควรจะเชื่อฟังคำแนะนำของแพทย์ บางท่านเมื่อแพทย์บอกว่าไม่พบอะไรที่ผิดปกติหรือหัวใจเป็นปกติดีทุกอย่าง ก็คิดต่อไปว่าแพทย์ปิดบังความจริง เกรงว่าจะทำให้ตนใจเสีย ผู้ที่เป็นเช่นนี้มักพยายามเที่ยวไปให้แพทย์ตามที่ต่าง ๆ ตรวจเสียหลายคนและไม่ยอมเชื่อทั้งนั้นว่าตนไม่เป็นโรคหัวใจ คิดว่าแพทย์ทุกคนหลอกและไม่กล้าบอกความจริง คนเหล่านี้จะขาดความสุขของชีวิต กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เฝ้าแต่คิดว่าตนเป็นโรคหัวใจอยู่ตลอดเวลา
สมาคมโรคหลอดเลือดแดงแห่งประเทศไทย Thai Atherosclerosis Society
อาคารเฉลิมพระบารมี ๕๐ ปี ชั้น 5 โซนบี 2 ซอยศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ห้วยขวาง บางกะปิ กรุงเทพฯ 10320
0-2716-6043, 087-830-9306 0-2716-6044